ความโกรธ

ความโกรธเป็นการสูญเสียพลังในการควบคุมความสมดุลในตนเอง แสดงถึงความไม่พอใจที่ออกทาง ใบหน้า คำพูด หรือการกระทำ ซึ่งผู้อื่นสามารถรับรู้ได้

ความโกรธนี้มีความรุนแรงมาก อาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งเคยมีมาก่อน อาจเกิดจากสถานการณ์ที่ไม่ดี ความผูกพันยึดมั่น การที่เรามีความรักและคาดหวังในตัวเขามากจนเกินไป เมื่อเขาทำผิดโดยเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราก็จะเกิดความโกรธ โดยเฉพาะกับผู้ที่อ่อนแอกว่า เราก็จะถือกฎหมายไว้ในมือ ว่ากล่าวลงโทษด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจแสดงออกทางใบหน้า มีคำพูดที่รุนแรง หรืออาจทำร้ายทางร่างกาย นี่เป็นการทำลายความรู้สึกที่ดีๆ ที่เคยมีต่อกัน หากผู้ที่ทำผิดเป็นเด็ก การถูกลงโทษเช่นนี้จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในตนเอง และถูกประทับในสิ่งที่ไม่ดีไว้ เด็กคนนี้อาจเก็บความเจ็บปวดไว้ภายใน แม้จะไม่แสดงออกในตอนนั้น แต่อาจแสดงออกกับเพื่อน หรือผู้ที่มีความอ่อนแอกว่าจนอาจเป็นแบบลูกโซ่ ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของตนเองและผู้อื่น

จงอย่าได้คาดหวังสิ่งใดๆว่าผู้อื่นจะเป็นเช่นที่เราต้องการ ให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ต้องไม่มีความผูกพันยึดมั่น การจะทำให้ตนเองไม่โกรธโดยการมีจิตใจที่เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และความปรารถนาดีอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เห็นผู้อื่นทำผิด ให้อยู่อย่างเต็มไปด้วยความอดกลั้นและเยือกเย็น เฝ้าแต่คอยสังเกตการณ์อย่างละวาง ให้คิดเสมอว่าทุกคนยังไม่มีความสมบูรณ์พร้อม มีทั้งข้อดีและไม่ดีอยู่ จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น การที่เขาทำผิดเช่นนั้นอาจมีเหตุผลที่เรายังไม่ทราบ แล้วเราก็จะไม่โกรธหรือตำหนิเขา **

เราสามารถที่จะพูดคุยหรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่ว่าผู้ที่ทำผิดจะได้เข้าใจและสำนึกในความผิดที่ได้ทำไป ทำให้เขามีการพิจารณาสำรวจตนเองและพัฒนาตนใหม่ ไม่ทำผิดซ้ำๆ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป (ขอย้ำว่าต้องทำในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น)


** ชายคนหนึ่งขี่จักรยานสองล้อมาตามทางด้านขวามือ (กฎจารจร-ขี่ทางด้านซ้ายมือ) ชายอีกคนหนึ่ง ขับรถมาจากต่างถิ่น ในทิศทางตรงข้าม จึงตะโกนพูดว่า…

คนที่ขับรถ : เฮ้ย! ไอ้น้องชาย เอ็งรู้กฎจราจรไหม ขี่จักรยานแบบนี้ ระวังรถชนตายได้ง่ายๆ
คนที่ขี่จักรยาน : รู้ซิครับ แต่นี่มันทางจักรยาน และมีเงาของร่มไม้ด้วย ขี่ได้สบายๆ แล้วก็ไม่ร้อนด้วย
คนขับรถ : !!!
Om Shanti
รวมรวมโดย ผศ.เสาวนีย์ ก่อวุฒิกุลรังษี