ผู้ให้-ผู้รับ


ในช่วงชีวิตของเรานั้นจะอยู่ใน 2 สถานภาพเท่านั้น คือผู้ให้-ผู้รับ ตั้งแต่เราเกิดมาเราเป็นผู้รับการเลี้ยงดูจาก พ่อแม่ ซึ่งคอยป้อนข้าวป้อนน้ำให้ พอเราเริ่มรู้จักพูด พ่อแม่ก็สอนให้เราพูด เราก็เป็นผู้รับการสอน พอเข้าโรงเรียนเราก็ได้รับการสอนจากครู เราก็ทำหน้าที่เป็นผู้รับอีก เด็กบางคนในช่วงนี้ก็รู้จักให้บ้างแล้วเพราะอาจได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากครูหรือพ่อแม่ โดยอาจช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเป็นต้น และเมื่อเราเรียนจบทำงานแล้ว อยากถามว่าเราเป็นผู้ให้อย่างเต็มตัวหรือยัง? เราทำงานให้นายจ้างแล้วเราก็ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง เงินเดือนที่เราได้มาเราให้ใครบ้าง ส่วนใหญ่ก็ให้ตัวเอง ดังนั้นจึงยังไม่ได้เป็นผู้ให้ที่แท้จริง แต่ก็ยังเป็นผู้รับอยู่ดี บางคนก็รู้คุณพ่อแม่ก็แบ่งส่วนหนึ่งให้พ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่ดี เราควรจะให้อะไรกับใครอีก เราอยู่บนโลกใบนี้เราให้อะไรแก่โลกบ้าง สิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ทรุดโทรมมากเพราะว่ามนุษย์รับมากกว่าให้มากมาย ขอยกตัวอย่างการรับและการให้กับโลกใบนี้ดังตารางต่อไปนี้

โลก
การให้การรับ
ปลูกต้นไม้
รักษาหรือดูแลต้นไม้
ประหยัดพลังงาน
ฯลฯ
.
นำน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติมาใช้งาน
ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำต่าง ๆ
ใช้พลังงานมากจนเกินความจำเป็นเช่นไฟฟ้า น้ำมัน
ไปเที่ยวภูเขา ทะเล น้ำตก
ฯลฯ

จากตารางจะเห็นว่าทางด้านการรับนั้น ทำให้เรามีความสะดวกสบายมาก ส่วนทางด้านการให้นั้นจะเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ ทำเมื่อไหร่ก็สะดวก แต่ทำไมเราจึงทำได้ยากกันนัก จนปล่อยให้สิ่งแวดล้อมทรุดโทรมมากถึงเพียงนี้

ตอนนี้มาดูสิ่งใกล้ตัวเราเข้ามาอีกคือประเทศชาติหรือสังคมดังตารางต่อไปนี้

ประเทศชาติหรือสังคม
การให้การรับ
ทำตามกฎหมาย หรือกฎจราจร
เสียภาษีอากร
ฯลฯ
ได้รับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ได้รับความสะดวกสบายเช่นมีถนนที่ดี สะอาดไว้ใช้
ฯลฯ

ตารางนี้ก็เช่นกัน การให้ก็ทำง่ายมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการรับแล้วนั้นจะเห็นว่าเราได้รับมากมาย เช่นเราเสียภาษีอากร เราก็จะได้ถนนที่ดีมีความสะอาดทำให้เราเดินทางได้สะดวกทั่วประเทศเลย ซึ่งเปรียบเทียบกับเงินภาษีที่เราจ่ายแล้วสุดจะเกินคุ้ม เช่นกันถ้าเราทำตามกฎหมายมันก็จะทำให้เราปลอดภัยไปไหนก็สบายใจ แต่ทำไมจึงมีบางคนทำได้ยากนัก

ตอนนี้มาดูใกล้ตัวอีกนิดคือครอบครัวดังตารางดังนี้

ครอบครัว
การให้การรับ
เด็กให้ความเคารพผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ยอมรับผู้อ่อนวัย
ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ยิ้มแย้มให้กัน
ฯลฯ
เด็กรับการเลี้ยงดูจากผู้ใหญ่
ระบายความทุกข์ ปรับทุกข์
ผู้เสียเปรียบรับการช่วยเหลือกจากผู้ได้เปรียบ
ฯลฯ
.

จะเห็นว่าทางด้านรับนั้นเราเลี่ยงไม่ได้เลย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความจำเป็น แต่ทางด้านให้นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวเรา เราสามารถให้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าให้มากแค่ไหน ก็จะทำให้การรับน้อยมากเพียงนั้น ก็คือถ้าทั้งครอบครัวเป็นผู้ให้หมด ทุกคนก็มีความสุขไม่ต้องมีใครรับ ดังนั้นผู้ให้ย่อมมีความสุขมากกว่าผู้รับ

ตอนนี้มาดูในตัวเราบ้างว่ามีการให้และรับอย่างไรดังตารางต่อไปนี้

ตัวเรา
เต็ม(พร้อมจะให้)ขาด(ต้องการรับ)
ยิ้ม
กระตือรือร้น
เรียบง่าย
ฯลฯ
บูดบึ้ง
เกียจคร้าน
ซับซ้อน
ฯลฯ

จากตารางเราคงไม่อยากจะเป็นผู้ต้องการรับ เพราะยังไม่เต็มจึงค้นหาตัวเองอยู่ และไม่สามารถให้ใครได้ในตอนนี้

การให้แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ให้สิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโลก ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  2. ให้สิ่งจำเป็นต่อสติปัญญา เช่น การเดิน การพูด การอ่าน การศึกษา ความรู้ในการดำรงชีวิต เป็นต้น
  3. ให้สิ่งจำเป็นต่อจิตวิญญาณ เช่น ให้รอยยิ้ม ให้ความสงบ ให้การเอาใจใส่ การปรับตัว เป็นต้น

ในตอนที่เรายังเล็กเราจำเป็นที่จะต้องรับข้าวและน้ำจากพ่อแม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเริ่มพูดพ่อแม่สอนเราให้พูด อ่าน เขียน ในสิ่งจำเป็นต่อสติปัญญา สิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตเมื่อเราโตขึ้น ถ้าเรามีลูกที่พิการทางสมองเราไม่สามารถสอนได้ เราก็ต้องเป็นผู้ให้น้ำและอาหารจนกว่าเขาจะตาย ดังนั้นการให้การสอนให้ลูกพูดอ่านเขียนก็เป็นการสอนให้เขาช่วยตัวเองได้ในภายภาคหน้า

การที่จะให้สิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิต กับคนทั่วไปนั้นเราสามารถให้ได้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น เราควรให้สิ่งที่จำเป็นต่อสติปัญญา คือวิชาความรู้สำหรับเลี้ยงชีพมากกว่า เพราะเราให้เขาไม่กี่ครั้งเขาก็สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีพ ถ้าหากว่ามีขอทานมาขอเงินเรา เราก็ไม่ควรให้เงิน แต่ควรให้คำแนะนำเพื่อให้เขาสามารถเลี้ยงชีพได้ ที่จริงแล้วถ้าอยู่ในชนบทไม่น่าที่จะไม่มีกินถ้าเรามีสติปัญญา เพราะว่าในชนบทนั้นแม้มีที่ดินเพียงเล็กน้อยก็สามารถปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ได้ ส่วนการให้สิ่งจำเป็นต่อจิตวิญญาณนั้น เราควรจะให้เวลาใด? เราให้เมื่อเราต้องการอยู่กับสังคม เพื่อให้ผู้ที่อยู่กับเรามีความสุข มีความสอดคล้องกลมกลืนกัน สิ่งนี้เราไม่ต้องได้รับก่อนแล้วจึงให้ แต่เราสามารถให้ได้ตลอดเวลา และไม่มีวันหมดไปจากตัวเรา ไม่เหมือนกับการให้ 2 ประเภทแรก เราต้องได้รับก่อน แล้วจึงสามารถให้ได้ โดยเฉพาะประเภทแรกเราต้องหามาก่อนแล้วจึงให้ได้ ส่วนประเภทที่ 2 นั้นเราให้มากก็ทำให้เราเหนื่อยมาก แต่ประเภทสุดท้ายนี้ให้มากเท่าไรก็มีความสุขมากเท่านั้น

ดังนั้นการให้สูงสุดคือการให้สิ่งจำเป็นต่อจิตวิญญาณ

ถ้าเราไม่สามารถให้สิ่งจำเป็นต่อจิตวิญญาณได้ เราค่อยให้สิ่งจำเป็นต่อสติปัญญา

แต่ถ้าเราไม่สามารถให้สิ่งจำเป็นต่อสติปัญญาได้ เราค่อยให้สิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิต


แต่งโดย ผศ.ทรงชัย วีระทวีมาศ (webmaster)