ความเครียด

ความเครียด คือสภาวะของจิตใจที่ขาดความอดทน อดกลั้น และเต็มไปด้วยความคิดที่ไร้ประโยชน์ อันเนื่องมาจากความกดดันจากภาระหน้าที่การงาน การเงิน ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง รวมทั้งความไม่ถูกต้อง ความก้าวร้าวรุนแรง และสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นการบั่นทอนจิตใจให้ขาดพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหารุนแรงมาก ก็เกิดอาการเครียดที่ยาวนาน (เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย การตกใจกระทันหันต่อเหตุการณ์หรือภัยพิบัติต่าง ๆ) มีผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตทำให้ไม่สามารถเผชิญหรือแก้ปัญหา มีการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ความจำเสื่อม ขาดความกระตือรือร้น ความสนใจ และความสุขที่แท้จริงภายใน


สาเหตุของความเครียด
  1. ความหยิ่งทะนงที่มาพร้อมกับความอิจฉาริษยา ไม่ยอมรับนับถือผู้ใด และพร้อมที่จะโต้แย้งแข่งขันเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง
  2. การมองโลกในแง่ร้าย ไม่มีความสงบ-เยือกเย็นภายใน
  3. การเพ่งพิจารณาแต่ความบกพร่อง-อ่อนแอของผู้อื่น ไม่สำรวจตรวจสอบและแก้ไขตนเอง
  4. ความรู้สึกที่อ่อนไหวง่าย ไม่เข้าใจอะไรลึกซึ้ง-สมบูรณ์
  5. ความอยาก ไม่สามารถอยู่อย่างพอใจและสมหวัง
  6. ความผูกพันยึดมั่น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือการสูญเสีย
  7. ความเห็นแก่ตัว ไม่พร้อมที่จะให้ด้วยความสุข สบายใจ
  8. ความโกรธที่รุนแรง ไม่ให้อภัยต่อความผิดพลาด ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่
  9. การอยู่ภายใต้ของอิทธิพลของค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการดำเนินชีวิตที่สมดุลและสมบูรณ์

ผลร้ายของความเครียด
  1. ทำลายความสัมพันธ์ ก่อให้เกิดความแตกแยก
  2. สภาพอารมณ์ไม่มั่นคง ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กล้ามเนื้อกระตุก อยู่ไม่สุข วิตกกังวล และนอนไม่หลับ
  3. ทำให้เซลในร่างกายมีอายุสั้นลง ความจำเสื่อม ประสิทธิภาพในการเรียน-การทำงานลดลง
  4. เป็นสาเหตุของการตายโดยฉับพลัน และการฆ่าตัวตาย
  5. เป็นยาพิษที่ออกฤทธิ์ช้า ๆ ก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนัง โรคอ้วน โรคปวดศีรษะ โรคปวดหลัง โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และอื่น ๆ อีกทั้งลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นเหตุชักนำให้เกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

โดยทั่วไปผู้คนแก้ปัญหาความเครียดด้วยวิธีเหล่านี้
  1. หนี หลีกเลี่ยงสถานการณ์ เป็นวิธีที่ไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการใช้ความสามารถอย่างเต็มที่
  2. หาที่พึ่ง แสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อบรรเทาหรือเพิกเฉยต่อต้นเหตุของปัญหา เช่น การสนับสนุนจากญาติมิตร การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย การระบายความรู้สึกหรือปรึกษาผู้อื่นรวมทั้ง บุหรี่ สุรา ยาเสพติด เป็นสิ่งที่ช่วยได้ในระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความสัมพันธ์
  3. ยอมแพ้ สุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยเป็นโรค หรือมีอาการทางกายต่าง ๆ เช่น หอบหืด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
  4. เผชิญหน้า ใช้กลไกภายในเพิ่มความเข้มแข็งของจิตใจและสติปัญญา ด้วยการศึกษาสาเหตุของปัญหาพร้อมกับฝึกฝนจิตใจให้มีความสงบ มีสมาธิ ใช้เหตุผลในการแก้ไข เป็นการพัฒนาทักษะ การวิเคราะห์ การตัดสินใจ การควบคุมความคิด การกระทำ ที่นำตนเองไปสู่เป้าหมายใหม่ในชีวิตที่พร้อมจะเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจ

วิธีการขจัดความเครียด
  1. มีความเคารพในตนเอง และผู้อื่นตลอดเวลาด้วยการยอมรับคุณค่าบทบาทที่แตกต่างกัน และไม่เปรียบเทียบแข่งขัน
  2. มีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยการสร้างความคิดที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สับสน
  3. ระมัดระวังความคิด-คำพูด-การกระทำ ด้วยการสร้างสำนึกที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากปัญหาและความทุกข์
  4. สร้างความสัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างถูกต้อง ด้วยการเข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างลึกซึ้ง
  5. เรียนรู้ที่จะให้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน ด้วยการขจัดความอยากต่าง ๆ
  6. เข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง ด้วยการฝึกจิตที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติของตนเอง ให้อยู่อย่างละวางและเต็มไปด้วยความรัก โดยไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม

Om Shanti
บทความจากเอกสารแผ่นพับของ ศูนย์ ราชาโยคะ ปี พ.ศ.2534